พล.ต.ท. ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยธุรกิจความปลอดภัย เปิดเผยเรื่องของการอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.)
ตามข้อบังคับกฎหมายที่ต้องอบรมตามข้อกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 นี้ว่า ที่ผ่านมาได้ประชุมเพื่อติดตาม ส่วนงานต่างๆที่รับผิดชอบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ บริษัทด้านรักษาความปลอดภัย (บริษัทรปภ.) ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของตัวเองเข้ารับการมตามกฎหมายซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ที่จะครบกำหนด
พล.ต.ทชนสิษฎ์ เปิดเผยที่มาว่าก่อนหน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือภาคส่วนต่างๆให้เร่งรัดจัดคนเข้าอบรม ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ที่ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่ายังมีบริษัทรักษาความปลอดภัย (บริษัทรปภ.) บางแห่งยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) บางคนยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งภายใน 3 มีนาคมนี้ พนักงาน รปภ. ทุกคนจะต้องผ่านการอบรม หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ โดยต้องได้รับโทษ ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ ว่า ผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ผู้ประกอบการผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย (บริษัทรปภ.) โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการจัดดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัยที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 นั้น เพื่อไม่ให้ถูกนายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตในการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เตรียมความพร้อมทางด้านเจ้าหน้าที่และสถานที่ โดยสามารถติดต่อฝึกอบรมสถานฝึกอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 123 แห่ง และในส่วนของเอกชนที่มีสถานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองอีก 126 แห่ง รวม 249 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้พยายามสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัย (บริษัทรปภ.) ทั่วประเทศ อย่างเต็มที่เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการและการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้มาตรฐานสากล ต้องเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความร่วมมือในทุกด้าน ในการอำนวยความสะดวกการฝึกอบรม ทั้งด้านหลักสูตร วิทยากรรวมถึงสถานที่ ทางผู้ประกอบการเองก็ต้องกระตุ้นเตือน และส่งบุคลากร พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ให้เข้าฝึกอบรม เพื่อเป็นการยกระดับการทำงานและมีมาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะว่าจะเป็นการยกระดับความมาตรฐานปลอดภัย หากไม่ดำเนินการถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อหลายๆด้าน ทั้งภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย และสถานที่ฝึกอบรมที่ใกล้เคียงท่านสามารถ ติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่าย ฝ.5 กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทรศัพท์หมายเลข 02-280-5189 เพื่อสอบถามขั้นตอนการติดต่อฝึกอบรม และรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงบทบัญญัติตามกฎหมายที่ควรรู้ ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อกระตุ้นเตือนให้พนักงานของท่านตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_173148