Our Articles

We will never stop becoming intelligence

โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) ไม่เสียค่าใช้จ่าย หมายถึง ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง)
หรือบัตร 30 บาทที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งใดก็ได้ (ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อแสดงตัวตนใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการทุกครั้ง)

"ที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ)" หมายถึง โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) มีดังนี้

1.หน่วยบริการรับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การสั่งการรักษา การผสมยา และการบริหารยาเคมีบำบัด ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือการให้ฮอร์โมน Tamoxifen สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม

2.หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่ สปสช.กำหนด

3.หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกเหนือจากข้อ 1 และ 2 ที่ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็ง ดังนี้

3.1 การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยครอบคลุมการประเมินระยะของมะเร็ง (Staging) ตามมาตรฐานของโรคมะเร็งแต่ละชนิด ทั้งนี้ไม่รวมการคัดกรองเบื้องต้น (Screening) หรือการศึกษาวิจัย

3.2 การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา รวมถึงโรคร่วมที่พบในการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น

3.3 การตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา (Follow up) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็งและโรคร่วมที่พบในการมารับการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น

รายชื่อหน่วยบริการรังสีรักษา เคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) >>> https://drive.google.com/drive/folders/1TeOaT8zSXzxiR_aQ299Dp-K3ehiicz0W?usp=share_link

ในกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่มีอาการหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง สามารถขอรับคำปรึกษาหรือคัดกรองเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการประจำใกล้บ้าน หรือสถานพยาบาลประจำได้ตามระบบปกติ

ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถรับการรักษาโรคมะเร็ง ตามขั้นตอนดังนี้

1.ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าเป็น "โรคมะเร็ง"

2.แพทย์ผู้รักษาตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง "เลือกรับการรักษาต่อที่ใด"

3.พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ประสานการส่งต่อจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการประสานการส่งข้อมูลผู้ป่วยเพื่อไปรับบริการยัง "หน่วยบริการที่พร้อมให้บริการรักษาโรคมะเร็ง" โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

4.ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษา ณ หน่วยบริการเฉพาะด้านโรคมะเร็ง


นโยบาย โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) หรือ Cancer Anywhere

โรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพื่อควบคุมระยะและการแพร่กระจายของโรค แต่ด้วยขั้นตอนการส่งตัวตามระบบเครือข่าย และความหนาแน่นของปริมาณผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว โดยการเข้ารับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา ปกติแล้วจะต้องรอตรวจ และรอการรักษาตามคิวของผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มักจะใช้เวลานาน หลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าที่เราจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หรือทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ช้า ทั้งในเรื่องระบบส่งตัวและวินิจฉัย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและเพิ่มระยะของมะเร็งได้


นโยบาย Cancer Anywhere เป็น 1 ใน 4 นโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และความรวดเร็วให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกวิธีการรักษา เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษา 20 ชนิด (Protocol) และการรักษามะเร็งทั่วไป (General) ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการ ผ่าน ช่องทาง สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. หรือติดต่อหน่วยบริการที่มีความพร้อมให้บริการรักษาด้วยคิวรอคอยที่สั้นได้โดยตรง และไม่ต้องใช้ใบส่งตัวยืนยันสิทธิ อีกทั้งยังมีบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)

ภายใต้ความร่วมมือกับกรมการแพทย์ที่ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงเพื่อให้บริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเริ่มนโยบายให้บริการทั่วประเทศ 1 มกราคม 2564 โดยความร่วมมือกับกรมการแพทย์ที่ได้จัดทำฐานข้อมูลให้สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งระบบข้อมูลของกรมการแพทย์ 4 โปรแกรมที่ใช้เชื่อมโยงฐานข้อมูล ดังนี้

(1) โปรแกรมฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็ง Thai Cancer Based (TCB) ต่อยอดเป็น TCB Plus เพื่อให้ใช้ลงทะเบียนและรับส่งต่อผู้ป่วย

(2) โปรแกรม The One Program เพื่อใช้บริหารจัดการคิวในการตรวจทางรังสีวินิจฉัย และการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด

(3) โปรแกรม DMS bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง

และ (4) แอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อรับการปรึกษาทางไกล (Tele-Consult) กับแพทย์ได้ ขอนัดรับยา ติดตามการรับยาทางไปรษณีย์


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw

///////////28 มีนาคม 2566










ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 

Location

เลขที่ 455/81
ถนนพัฒนาการ
แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250

View on Google Map

Contact

ฝ่ายขาย : 094 943 4444 , 065 626 4629
ฝ่ายบุคคล : 097 251 6347, 091 769 6189
ศูนย์ฝึกอบรมฯ : 02 005 1185, 02 130 6481-2

Email : [email protected]

Line QR Code