Our Articles

We will never stop becoming intelligence

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”
หลักคำสอน “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ท่ามกลางพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

ประวัติความเป็นมา
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ความหมายของวันมาฆบูชา
คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน ๓ ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน ๓

ความสำคัญของวันมาฆบูชาและประวัติวันมาฆบูชา
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์"แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง ๔ ประการ อันได้แก่

๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
- จาตุร แปลว่า ๔
- องค์ แปลว่า ส่วน
- สันนิบาต แปลว่า ประชุม
ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" นั่นเองทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

หลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว ๑๐ ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย
ซึ่งทั้ง ๓ หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" นั่นเอง

ที่มา : GSB
 

Location

เลขที่ 455/81
ถนนพัฒนาการ
แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250

View on Google Map

Contact

ฝ่ายขาย : 094 943 4444 , 065 626 4629
ฝ่ายบุคคล : 097 251 6347, 091 769 6189
ศูนย์ฝึกอบรมฯ : 02 005 1185, 02 130 6481-2

Email : [email protected]

Line QR Code