มีความปลอดภัยสูง กระตุ้น ปชช. แจ้งเบาะแสเพิ่ม รางวัลนำจับ 5% รูปแบบสกุลเงินดิจิทัล
เปิดระบบ Blockchain “แจ้งเบาะแสยาเสพติด (ไม่เปิดเผยตัวตน)” มีความปลอดภัยสูง กระตุ้น ปชช. แจ้งเบาะแสเพิ่ม รางวัลนำจับ 5% รูปแบบสกุลเงินดิจิทัล
กระทรวงยุติธรรม โดย สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ทดสอบระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติดผ่านระบบ Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่มีชั้นความลับสูงมาก ถูกพัฒนาเพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสยาเสพติด แต่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน คลิก https://1386.oncb.go.th
สาเหตุที่มีการพัฒนาระบบให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีจำนวน ปชช. แจ้งเบาะแสยาเสพติดผ่านสายด่วน 1386 น้อยมาก มีแจ้งเพียง 16,000 ครั้งเท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนหมู่บ้านกว่า 8 หมื่นแห่ง
โดยประชาชนสามารถแจ้งรายละเอียดข้อมูลของผู้ค้ายาเสพติด เช่น สถานที่กระทำผิด ข้อมูลบุคคล ประเภททรัพย์สิน รูปถ่าย และวอลเล็ทแอดเดรสของผู้แจ้งเบาะแส แต่จะ “ไม่สามารถยืนยันตัวตน” คนแจ้งเบาะแสได้
ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่กระบวนการยึดทรัพย์เข้ากองทุนยาเสพติดแล้ว ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รางวัลนำจับ 5% ผ่านวอลเล็ทแอดเดรสที่แจ้งไว้ โดยสามารถนำสกุลเงินดิจิทัล ไปซื้อขายในตลาดได้ทันที
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คิกออฟ ทดลองระบบบล็อคเชน แจ้งเบาะแสยาเสพติด แบบไม่เปิดเผยตัวตน รับรางวัลนำจับเป็นสกุลเงินดิจิทัล “วิชัย” ชี้ ระบบมีชั้นความลับสูง
10/02/2566 | 46 |
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเวลา 14.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้บริหาร ป.ป.ส. แถลงข่าวการทดสอบระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติด ผ่านระบบ Blockchain ที่สำนักงาน ป.ป.ส.
นายวิชัย กล่าวรายงานว่า ระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติด แบบไม่เปิดเผยตัวตน หรือ ระบบบล็อคเชน ได้ถูกพัฒนามาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสยาเสพติด แต่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน เนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัย ก็สามารถมาใช้ระบบใหม่นี้ได้ ซึ่งจะมีชั้นความลับที่สูงมาก โดยระบบบล็อคเชน ประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส. รวมถึงคิวอาร์โค้ด ซึ่งใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ โดยในระบบนี้ จะให้ประชาชนแจ้งรายละเอียดข้อมูลของผู้ค้ายาเสพติด ทั้งสถานที่กระทำผิด ข้อมูลบุคคล ประเภททรัพย์สิน รูปถ่าย และวอลเล็ทแอดเดรสของผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งจะไม่สามารถยืนยันตัวตนคนแจ้งเบาะแสได้ และเมื่อข้อมูลแจ้งเบาะแส สามารถนำไปสู่การยึดทรัพย์เข้ากองทุนยาเสพติดได้ ผู้แจ้งจะได้รางวัลนำจับ 5% ผ่านวอลเล็ทแอดเดรส ที่แจ้งไว้ โดยสามารถนำสกุลเงินดิจิทัล ไปซื้อขายในตลาดได้ทันที
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเริ่มต้น ระบบให้ความปลอดภัยกับผู้แจ้งเบาะแสยาเสพติด เพราะที่ผ่านมา มีคนแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1386 น้อยมาก ซึ่งประเทศไทย มีกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน แต่มีคนแจ้งมาเพียง 16,000 ครั้งเท่านั้น โดยไม่สอดคล้องกับที่ในสภาฯอภิปรายบ่อยครั้งว่า มียาเสพติดทุกหย่อมหญ้า แต่ทำไมมีคนแจ้งมาน้อยมาก ซึ่งตนก็มาคิดทบทวนว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นด้วย อย่างการกลัวความไม่ปลอดภัย เพราะจากการลงพื้นที่ต่างๆ ตนมักจะได้รับเสียงสะท้อนว่า ที่ไม่กล้าแจ้งเบาะแส เพราะกลัวผู้ค้ายารู้ตัว และกลับมาทำร้าย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อรู้ปัญหา จึงศึกษาเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแส มีความปลอดภัย ไม่มีใครรู้ตัวตน ซึ่งระบบนี้ จะมีเพียงเลขาธิการ ป.ป.ส.เท่านั้น ที่สามารถเปิดดูข้อมูลได้ โดยการศึกษาระบบบล็อคเชน ก็มาจากการเอาหนามยองเอาหนามบ่ง เพราะผู้ค้ายาเสพติด ได้ใช้ระบบบล็อคเชน ในการจ่ายเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ เราจึงมีการใช้ระบบแบบเดียวกัน ให้ผู้แจ้งเบาะแสยาเสพติด เข้ามาชี้เบาะแสและรับรางวัลนำจับเป็นสกุลเงินดิจิทัลเหมือนกัน
“เราใช้เวลากว่า 7 สัปดาห์ ในการศึกษาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งใช้งบไปเพียง 9 แสนบาท ก็สามารถพัฒนาระบบจนสามารถเริ่มใช้ได้แล้ว โดยผมเชื่อว่า ถ้าแจ้งแล้วเป็นความลับแบบนี้ จะมีคนแจ้งมาขึ้น เพราะไม่มีความอันตรายแล้ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าถึงทรัพย์สินของผู้ค้ายาได้มากขึ้น ดังนั้น นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมปราบปรามยาเสพติด ผมมั่นใจว่า กระแสตอบรับจะดีมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาข้อมูลผู้แจ้งหลุดไปถึงผู้ค้ายาได้อย่างสิ้นเชิง และเมื่อใช้ไปสักระยะ ก็จะต้องมีการปรับเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมยังมีเวลาอีกเดือนกว่า ก็อยากจะทำเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดแบบเชิงรุก” รมว.ยุติธรรม กล่าว
ที่มา : สำนักงาน ป.ป.ส. , กรมประชาสัมพันธ์