“เกม” เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ที่มีจุดเด่น คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริงและการสร้างความสนุกสนานรวมเข้ากับการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายต่างกับการเรียนรู้ปกติที่อาจจะสร้างความเครียดส่งผลต่อการปิดกั้นการเรียนรู้และการเรียนรู้ผ่านเกมสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เปิดโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้เข้ากับสภาพแวดล้อมจริงได้
จะเห็นว่าเกมเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาการเรียนรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) จึงเห็นความสำคัญและประโยชน์ของเกม อีกทั้ง ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำ “เกมที่ส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” โดยเฉพาะ สกธ. จึงได้ดำเนินการร่วมกับ Wizards of Learning ทีมผู้เชี่ยวชาญออกแบบเกม เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์สมมุติและใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เข้าถึงความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำหรับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ครู อาจารย์ และโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เป็นต้น
สกธ. จึงจะได้ผลิตเกมในรูปแบบ “บอร์ดเกม” (Board game) ซึ่งเป็นเกมที่พัฒนามา จากเกมไพ่ที่มีลวดลายเฉพาะเป็นอุปกรณ์หลักในการเล่นที่สร้างความสนุกสนานรวม
เข้ากับการเรียนรู้ ง่ายต่อการพกพา และใช้ผู้เล่นเป็นกลุ่ม จึงสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นได้อย่างดี โดยในเกมมีเนื้อเรื่องประกอบด้วย การจำลองสถานการณ์สมมุติการดำเนินคดีและการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา. จำนวน 2 คดี ได้แก่ (1) คดีทำร้ายร่างกาย และ (2) คดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้กฎหมายและกระบวนการ
ยุติธรรมผ่านตัวละครต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีและกระบวนการยุติธรรมอาญา และการค้นหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลย
โดยจะมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจะเป็นผู้ช่วยเหลือในการต่อสู้คดีระหว่างที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกดำเนินคดี ในแต่ละชั้นของกระบวนการยุติธรรม เช่น ชั้นตำรวจ อัยการ และศาล
สามารถดูวิธีเล่นได้ที่ https://justicechannel.org/justice-game
ที่มา: สำนักงานกิจการยุติธรรม